ความปลอดภัยในวงการคริปโต: นิยามแนวคิดหลัก
ความปลอดภัยเป็นรากฐานสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมคริปโต โดยสำหรับนักลงทุนแล้ว ความปลอดภัยในสินทรัพย์นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านความปลอดภัย และประสิทธิภาพด้านการจัดการความเสี่ยงและความตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยของสินทรัพย์สำหรับนักลงทุน เราจึงได้รวบรวมรายการคำศัพท์ที่พบได้บ่อยพร้อมคำอธิบายมาเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจแง่มุมของการลงทุนนี้ได้ดียิ่งขึ้น
การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (MFA)
การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (MFA) เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดให้ผู้ใช้ให้ข้อมูล หรือ “ปัจจัย” สำหรับการตรวจสอบสิทธิ์ที่ต่างกันถึง 2 ปัจจัยขึ้นไป เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้รายดังกล่าว โดยปัจจัยเหล่านี้อาจรวมถึงรหัสผ่าน ลายนิ้วมือ การสแกนใบหน้า บัตรสมาร์ทการ์ด และอื่นๆ กล่าวได้ว่า MFA สามารถยกระดับความปลอดภัยของบัญชีได้ เพราะถึงแม้ว่าผู้โจมตีจะรู้รหัสผ่านของผู้ใช้ แต่พวกเขาก็ยังคงต้องการปัจจัยสำหรับการตรวจสอบสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้เหล่านั้นนั่นเอง
การโจมตีแบบฟิชชิ่ง
ในการโจมตีแบบฟิชชิ่ง ผู้โจมตีจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ ทำให้ผู้ใช้สังเกตถึงความแตกต่างได้ยาก โดยในสถานการณ์นี้ผู้ใช้อาจให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และ 2FA ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงอุปกรณ์และบัญชีได้ พร้อมทั้งอาจนำไปสู่การโอนสินทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตได้เลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการสแกมเหล่านี้
ช่องทางการยืนยันอย่างเป็นทางการ
แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนต่างๆ จะให้บริการช่องทางการยืนยันอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ประจำแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ผ่านทางอีเมล, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ, WhatsApp และวิธีการอื่นๆ
การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (AML)
การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หมายถึง การดำเนินการโดยใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการดำเนินการฟอกเงินใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกปิดหรือบิดเบือนแหล่งที่มาของสินทรัพย์และลักษณะของความผิดทางอาญาที่เกิดจากอาชญากรรมทุกประเภท กล่าวได้ว่า กระบวนการนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินงานที่มั่นคงของระบบการเงิน ความเป็นธรรมทางสังคม การแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม และการต่อต้านการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆ
Know Your Customer (KYC)
KYC เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลงตัวตน นอกจากนั้น KYC ยังช่วยยกระดับความปลอดภัยในสินทรัพย์ของผู้ใช้ได้อย่างมาก และป้องกันการฉ้อโกง การฟอกเงิน การสแกม และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายได้อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องบัญชีของผู้ใช้และข้อมูลสินทรัพย์ หากบัญชีหรือสินทรัพย์ของผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยง การตรวจสอบและยืนยันข้อมูล KYC ของผู้ใช้จะช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาควบคุมบัญชีของตนได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว
ใบอนุญาตทางการเงิน
ใบอนุญาตทางการเงินเป็นหนังสือรับรองที่หน่วยงานทางการเงินออกให้กับบริษัทหรือบุคคล เพื่ออนุญาตให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถให้บริการทางการเงินหรือการเทรดได้ ประเภทของใบอนุญาตทางการเงินอาจแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค และรวมถึงใบอนุญาตการธนาคาร ใบอนุญาตหลักทรัพย์ และใบอนุญาตประกันภัย นอกจากนี้ ข้อกำหนดในการได้รับใบอนุญาตดังกล่าวก็อาจแตกต่างกันได้เช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การจะได้รับใบอนุญาตทางการเงินจะต้องเกิดจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานที่ระบุไว้ ตลอดจนการปฏิบัติตามข้อบังคับและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในอุตสาหกรรมคริปโตที่ค่อนข้างใหม่ พบว่ายังไม่มีการกำหนดกรอบและมาตรฐานด้านการกำกับดูแลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมา โดยแต่ละประเทศและภูมิภาคก็จะมีมุมมองด้านการกำกับดูแลที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น “ฮ่องกง” ได้ออกเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เสมือนของตนเองขึ้นมาแล้วในวันที่ 1 มิถุนายน 2023
Merkle Tree
Merkle Tree เป็นโครงสร้างข้อมูลที่คล้ายกับต้นไม้ซึ่งใช้ในการยืนยันความสมบูรณ์และความปลอดภัยของข้อมูล โดยที่ข้อมูลด้านล่างของแต่ละบัญชีจะมี Node ของบัญชีที่มียอดคงเหลือในบัญชีและชื่อบัญชีที่เข้ารหัสด้วย SHA256 อยู่ ส่วน Hash Value ที่ได้รับน้ันสามารถนำมาคำนวณได้อีกครั้งกับ Hash Value ที่อยู่ติดกัน จากนั้นจึงค่อยๆ ไล่ไปทีละ Layer จนกว่าการคำนวณ Hash จะไปถึง Root ของโครงสร้าง Merkle Tree หากต้องการยืนยันว่า Ledger มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผู้ใช้เพียงต้องทำตามขั้นตอนในการคำนวณ Hash ในบัญชีของตน, ค้นหา Position ใน Tree นั้นๆ พร้อมกับ Node ที่อยู่ติดกัน จากนั้นจึงคำนวณ Hash Value ไปทีละ Layer จนกระทั่งถึง Root ของ Tree ที่ผู้ใช้ทำการคำนวณ อย่างไรก็ดี โครงสร้างข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายวงการ เช่น บล็อกเชน ฐานข้อมูล ระบบไฟล์ และอื่นๆ อีกมากมาย
Proof of Reserves (PoR)
Proof of Reserves (PoR) หมายถึงขั้นตอนการตรวจสอบที่ยืนยันยอดถือครองของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนผ่าน Cryptographic Proof, ความเป็นเจ้าของ Wallet สาธารณะ และการตรวจสอบซ้ำ โดยผู้ให้บริการดูแลรักษาสินทรัพย์จะรับประกันความโปร่งใสและให้หลักฐานว่าทุนสำรองแบบ On-Chain นั้นเท่ากับหรือมากกว่ายอดรวมของยอดถือครองของผู้ใช้ทั้งหมด หากยอดรวมที่ได้รับการยืนยันมากกว่าหรือเท่ากับ 100% หมายความว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถให้การปกป้องสินทรัพย์ของผู้ใช้ทุกคนได้อย่างเต็มที่
การตรวจสอบ Smart Contract
การตรวจสอบ Smart Contract เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบโดยละเอียดและการวิเคราะห์ Code ของ Smart Contract บนบล็อกเชน เพื่อค้นหาช่องโหว่ ข้อบกพร่อง หรือปัญหาด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ การตรวจสอบ Code ของ Smart Contract จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องความปลอดภัย ความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการขยายการรองรับของ Smart Contract เพื่อทำให้แน่ใจว่าฟังก์ชันการทำงานและตรรกะทางธุรกิจของ Smart Contract ดังกล่าวนั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่คาดหวัง และจะไม่ถูกแฮ็กเกอร์หรือภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอื่นๆ โจมตีได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วการตรวจสอบ Code ของ Smart Contract จะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบมืออาชีพหรือบริษัทรักษาความปลอดภัย เพื่อการันตีความปลอดภัยและความเสถียรของ Smart Contract
Nansen
Nansen เป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลบล็อกเชนที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงใน On-Chain Address และ Smart Contract เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวและเทรนด์ล่าสุดของตลาดได้ในทันที ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดพร้อมข้อมูลครบถ้วน
ISO/IEC 22301:2019
ISO/IEC 22301:2019 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ที่เผยแพร่โดยองค์การมาตรฐานสากล (ISO) มาตรฐานนี้จะให้แนวทางหรือกรอบการทำงานเพื่อช่วยให้องค์กรรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจเอาไว้ได้เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในรูปแบบต่างๆ โดยมาตรฐาน ISO/IEC 22301:2019 จะประกอบไปด้วยชุดข้อกำหนดและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อช่วยองค์กรในด้านการตอบโต้ ฟื้นฟู และปกป้องระบบการทำงานที่สำคัญของธุรกิจได้อย่างฉับไวเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับองค์กรทุกประเภทและขนาด โดยไม่คำนึงถึงอุตสาหกรรมหรือสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
ISO/IEC 27701:2019
ISO/IEC 27701:2019 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (PIMS) ที่พัฒนาขึ้นจากกรอบการทำงานของระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS) ในมาตรฐาน ISO/IEC 27001 มาตรฐาน ISO/IEC 27701:2019 นี้จะให้แนวทางหรือกรอบการทำงานเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกับข้อมูลส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรับประกันการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังให้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรต่างๆ เพื่อรักษาประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบการจัดการข้อมูลส่วนตัวประจำองค์กรอีกด้วย
ISO/IEC 27001:2013
ISO/IEC 27001:2013 เป็นมาตรฐานสำหรับระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS) ที่แนะนำกรอบการทำงานเพื่อช่วยเหลือองค์กรในด้านการปกป้องการรักษาความลับ ความสมบูรณ์ และความพร้อมใช้งานของข้อมูล นอกจากนี้ยังช่วยรับประกันประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศขององค์กรอีกด้วย มาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ประกอบด้วยชุดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เช่น การประเมินความเสี่ยง การควบคุมความปลอดภัย และการตรวจสอบภายในองค์กร เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าองค์กรจะสามารถระบุและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลได้ ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานดังกล่าวยังให้คำแนะนำสำหรับองค์กรเพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศขององค์กรนั้นๆ จะสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ
PCI DSS v3.2.1
PCI DSS v3.2.1 คือ มาตรฐานรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมบัตรชำระเงิน (PCI DSS) ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกองค์กรที่บริหารจัดการข้อมูลบัตรชำระเงินจะปฏิบัติตามชุดมาตรฐานความปลอดภัยและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยเป้าหมายหลักของมาตรฐานดังกล่าว คือ เพื่อปกป้องข้อมูลบัตรชำระเงินของลูกค้าจากการโจรกรรมหรือการใช้ในทางที่ผิด มาตรฐานนี้ประกอบไปด้วยชุดข้อกำหนด เช่น การกำหนดค่าเครือข่ายที่มีความปลอดภัย, พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ได้รับการเข้ารหัส, การควบคุมการเข้าถึง และการติดตามรวมถึงทดสอบเป็นประจำเพื่อทำให้แน่ใจว่าองค์กรเหล่านั้นจะสามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลบัตรชำระเงินที่อยู่ภายใต้การดำเนินการขององค์กรได้ นอกจากนี้ มาตรฐาน PCI DSS v3.2.1 ยังกำหนดให้องค์กรต่างๆ ดำเนินการประเมินด้วยตนเองและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานผ่านการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระบุคคลที่สามด้วยเช่นกัน
กรอบการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ NIST
กรอบการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ NIST (NIST Cybersecurity Framework) เป็นกรอบการทำงานด้านการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างและรักษาระบบจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศที่มีประสิทธิผลเอาไว้ได้ สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐ (NIST) ได้จัดเตรียมกรอบการทำงาน, ระเบียบวิธี และแนวปฏิบัติทางเทคนิคมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ดำเนินการประเมินความเสี่ยง, ควบคุมความปลอดภัย และจัดการความปลอดภัยได้อย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งไปกว่านั้น กรอบการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ NIST ยังครอบคลุมถึงการดำเนินการที่สำคัญต่างๆ เช่น การตรวจสอบสิทธิ์, การควบคุมการเข้าถึง, การเข้ารหัส, การจัดการช่องโหว่, การโต้ตอบต่ออุบัติการณ์ และการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า เรื่องของความปลอดภัยถือเป็นแนวคิดที่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงแง่มุมต่างๆ มากมายเกินกว่าจะกล่าวถึงได้ทั้งหมดในบทความเดียว แต่เราก็ยังหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณได้ความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยของสินทรัพย์ในโลกคริปโต และช่วยให้คุณเข้าไปมีส่วนร่วมในวงการคริปโตอย่างปลอดภัยมากขึ้นได้
ข้อสงวนสิทธิ์: ความคิดเห็นที่อยู่ในบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น บทความนี้ไม่ใช่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ ที่ได้มีการเอ่ยถึง รวมถึงไม่ใช่คำแนะนำด้านการลงทุน การเงิน หรือการเทรดแต่อย่างใด ขอแนะนำให้คุณปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองก่อนทำการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
- วิธีถอนโทเค็น CATS จาก Telegram แล้วฝากเข้า Bitget2024-10-01 | 5m
- ฝาก CATI เข้า Bitget ไร้ค่า Gas2024-09-14 | 5m
- Orderly Network (ORDER): พรมแดนใหม่แห่งการเทรดแบบกระจายศูนย์2024-08-27 | 5m